วันพฤหัสบดีที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

สินค้าส่งออก"รถยนต์"

ส่งออกรถยนต์พุ่งแรงกว่า70% ออสเตรเลีย-อาเซียนตลาดหลัก

ตลาดส่งออกรถยนต์ยังดีต่อเนื่อง ขยายตัวสูง 74.9% เมื่อเทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ชี้ออสเตรเลีย-อาเซียนยังเป็นตลาดหลัก
รายงานข่าวจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ยอดการส่งออกรถยนต์ของไทยในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมามีการขยายตัวสูงขึ้นมาก ทั้งในแง่ของจำนวนคันที่ขยายตัวถึง 56.1% และมูลค่าการส่งออกที่ขยายตัวสูง 74.9% เมื่อเทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา
สำหรับปัจจัยที่ส่งผลให้การส่งออกรถยนต์ของไทยขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะไปยังตลาดส่งออกรถยนต์ ที่สำคัญของไทย เช่น ออสเตรเลียและอาเซียนนั้น นอกจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ส่งผลให้ตลาดรถยนต์ในหลายประเทศแล้ว ยังเป็นผลมาจากการลดภาษีศุลกากรภายใต้กรอบความตกลงการค้าเสรีที่ประเทศคู่เจรจาปรับลดให้แก่สินค้ายานยนต์นำเข้าจากไทย ส่งผลให้ยอดการส่งออกรถยนต์ของไทยในปี 2553 นี้มีโอกาสทำสถิติสูงสุดนับตั้งแต่ไทยมีการส่งออกรถยนต์ไปยังต่างประเทศ
โดยในไตรมาส 1 จะพบว่ามีปริมาณการส่งออกรถยนต์ทั้งสิ้น 216,685 คัน ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และมีอัตราการขยายตัวที่สูงในรอบ 4 ปีที่ 53.1% เมื่อเทียบกับปีก่อน มีมูลค่าส่งออกประมาณ 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ มีอัตราการเติบโตสูง 74.9% เมื่อเทียบกับปีก่อน
หากพิจารณาเป็นรายสินค้า จะพบว่ามูลค่าการส่งออกรถยนต์ของไทยมีการเติบโตในทุกประเภทโดยเฉพาะประเภทรถยนต์นั่ง มีอัตราการเติบโต 83.5% รถแวนและปิกอัพ มีอัตราการเติบโต 76.2% รถบัสและรถบรรทุกมีอัตราการเติบโต 36% และเมื่อแบ่งตามกลุ่มประเทศเป้าหมาย ของการส่งออกพบว่า ตลาดส่งออกรถยนต์ที่สำคัญ 2 อันดับแรกของไทย คือ ออสเตรเลียและอาเซียน ซึ่งเป็นตลาดที่มีมูลค่าการส่งออกรวมกันเกินกว่าครึ่งหนึ่งของมูลค่าการส่งออกรถยนต์ทั้งหมด โดยในไตรมาสแรกมีมูลค่าการส่งออกรวมกันสูงถึง 1,614.6 ล้านเหรียญสหรัฐ โตจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 1.5%
ขณะที่การส่งออกไปยังออสเตรเลียมีการเติบโตสูงถึง 2 เท่า ในตลาดรถแวนและปิกอัพ รองลงมาคือ ตลาดรถยนต์นั่ง ตลาดรถบัส และรถบรรทุก ส่วนอาเซียน มีการขยายตัวสูงถึงกว่า 2 เท่าในตลาดรถยนต์นั่ง ตลาดรถบัส และรถบรรทุก ตามมาด้วยการส่งออกรถแวนและปิกอัพ ที่ขยายตัวดีเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ การส่งออกรถยนต์ของไทยที่ขยายตัวสูงตั้งแต่เดือนธันวาคมที่ผ่านมานั้น ได้รับปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญนอกเหนือจากฐานที่ต่ำค่อนข้างมากในปีก่อนหน้าแล้ว ยังเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของอุปสงค์รถยนต์ในตลาดต่างประเทศ และการเปิดเสรีทางการค้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน
สำหรับแนวโน้มการส่งออกรถยนต์จากนี้ไป ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังเชื่อว่าจะยังคงมีอัตราการขยายตัวค่อนข้างดี โดยเฉพาะใน 2 ตลาดหลักอย่างออสเตรเลียและอาเซียน เนื่องจากปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้ความต้องการซื้อสินค้าคงทนอย่างเช่น รถยนต์มีเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้โอกาสในการนำเข้ารถยนต์จากไทยมีเพิ่มสูงขึ้นตาม
จากทิศทางการฟื้นตัวจะเป็นแรงขับเคลื่อนให้ยอดขายรถยนต์ในประเทศนำเข้าหลักของไทยจะยังคงขยายตัวต่อเนื่อง จากที่มีการขยายตัวในอัตราที่สูงในระดับตัวเลข 2 หลัก ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว ต่อเนื่องถึงไตรมาส 1 ของปีนี้ อัตราการขยายตัวของยอดขายรถยนต์ไตรมาส 1 ในประเทศที่เป็นตลาดส่งออกรถยนต์หลักของไทย อย่างออสเตรเลียเติบโต 18.3% อินโดนีเซียเติบโต 73.6% มาเลเซียเติบโต 22.5% ฟิลิปปินส์เติบโต 35.5%
ปัจจุบันไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์หลักที่สำคัญและใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน และยังเป็นประเทศที่มีการส่งออกรถยนต์ไปยังออสเตรเลียคิดเป็นสัดส่วนสูงเกือบ 20% ของตลาดรถยนต์นำเข้าของออสเตรเลียทั้งหมดซึ่งมีสัดส่วนสูงมากกว่า 80% ของยอดขายรถยนต์รวมทั้งประเทศ โดยรถยนต์นำเข้าจากไทยมีสัดส่วนเป็น รองเพียงรถยนต์นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งในส่วนของตลาดรถปิกอัพพบว่ามีการนำเข้ารถปิกอัพจากไทยเป็นอันดับ 1 ในปีที่ผ่านมาทั้งในตลาดออสเตรเลียและอาเซียน
นอกจากนี้ การเปิดเสรีทางการค้าระหว่างไทยกับประเทศคู่เจรจา โดยเฉพาะการเปิดเสรีภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน มีโอกาสส่งผลให้ไทยสามารถขยายตลาดส่งออกในอาเซียนมากขึ้น ซึ่งหลังจากมี การเปิดเสรีอาเซียนในกลุ่มอาเซียนเดิม 6 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไน และไทยส่งผลให้อัตราภาษีสำหรับสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งหมดลดเป็น 0 ทันที ทำให้มูลค่าการส่งออกรถยนต์จากไทยไปยังกลุ่มอาเซียนเพิ่มขึ้นทันทีกว่า 1.5 เท่าจากช่วงไตรมาสแรกของปีก่อน แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของไทยในฐานะฐานการผลิตของอุตสาหกรรมรถยนต์ที่สำคัญของภูมิภาคอาเซียนส่วนตลาดออสเตรเลียแม้ในส่วนการ ส่งออกรถยนต์จากไทยไปออสเตรเลียจะ ไม่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากการเปิดเสรีไทย-ออสเตรเลียอย่างเต็มรูปแบบ
เนื่องจากออสเตรเลียได้ลดภาษีนำเข้ารถยนต์ทั้งหมดจากไทยเหลือ 0% ไปแล้ว ตั้งแต่ปี 2548 แต่ผลจากการเปิดเสรีดังกล่าวและการเปิดเสรีกับประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้กรอบอาเซียน ได้ทำให้เกิดทิศทางการย้ายฐานการผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนสำคัญหลายชนิดมายังไทย ทั้งเพื่อจัดจำหน่ายในประเทศและ เพื่อส่งออก
เนื่องจากขนาดและความพร้อมของ อุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศที่เหนือกว่าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคซึ่งจะส่งผลให้ทิศทางการส่งออกรถยนต์จากไทยไปยังตลาดออสเตรเลียเพิ่มสูงขึ้น


 *****************************************

3 ความคิดเห็น: